แก้ไขปัญหาทางการเงิน และ ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ทางเลือก หรือ ทางรอด




          
ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ทางเลือก หรือ ทางรอด

THAI AUTOMOTIVE PARTS  INDUSTRY TODAY

 

           ภาพรวมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

 

          มีธุรกิจที่เป็นนิติบุคคล 4,125 แห่ง ณ  มกราคม 2560   จัดตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ  1.7  พันราย  อันดับ 2 ภาคกลาง  1 พันราย  ตามเหตุผลที่ว่า ส่วนมากธุรกิจนี้เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จะต้องไปจับกลุ่มลูกค้าตามนิคมอุตสาหกรรม และ อีกอย่าง คือ ใกล้พวกผู้ผลิตซึ่งมักอยู่ใกล้ท่าเรือ ซึ่งความสะดวกและประหยัดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ 

 

นักลงทุนส่วนใหญ่เป็นคนไทย ถ้าคำนวณจากเงินลงทุนรวมทั้งตลาด  18,965 ล้านบาท   คนไทยคิดเป็น 62%  ต่างชาติ 38%  โดยต่างชาติอันดับหนึ่ง ไม่ต้องเดาเลย คือ ญี่ปุ่น  ลงทุนสูงสุด 22%  ชาติอื่นจิ๊บจ๊อย  เยอรมัน 2% สิงคโปร์ 1%(ข้อมูลสถิติจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า)

ภาวะธุรกิจและการเงิน 

 

         ภาวะธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของคนไทยที่จัดเป็น SME ผลิตเพื่อส่งขายให้ผู้ผลิตรถยนต์โดยทางอ้อม  คือ ต้องส่งผ่านบริษัทใหญ่ (tier 1) ซึ่งส่วนมากเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น หรือ บริษัทร่วมทุนกับ auto maker  เช่น  บริษัท  H-ONE สำหรับกลุ่มฮอนด้า  หรือ บริษัทในเครือของผู้ผลิตยานยนต์แบรนด์ดังนั่นเอง

 

                ส่วนใหญ่ยอดธุรกิจของบริษัทในปี 2015 จนถึงปี 2017 ตกต่ำลงมาก  จาก order ที่ถดถอยจากการผลิตของผู้ผลิตยานยนต์ หรือ บริษัทใหญ่ tier 1  บางบริษัทยอดขายตกลงถึง 30%  และแต่ละบริษัทก็มีหนี้สินล้น หลักๆ ที่มองเห็นก็มากอยู่จากอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้น ยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบ หรือ การกู้ยืมจากคู่ค้า หรือ วงแชร์  เพราะคนภายนอกจะมองไม่เห็น

 

                อัตราส่วน D/E ของบางบริษัทสูงถึง 3 เท่า หรือเกิน 5 เท่า  บางบริษัทภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อปีสูงเกิน 10 ล้านบาท  หรือต้องจ่ายเดือนละเป็นล้านบาททุกเดือน อย่างนี้ผลิต stamp ชิ้นงานไปเท่าไร ก็ไม่เหลือกำไร ดอกเบี้ยกินหมด

 

                สาเหตุหลัก คือ SME ส่วนใหญ่มีโครงสร้างเงินทุน/หนี้สิน  มาจากการกู้มากเกินไปจนเกินตัว over borrowing  เติบโตด้วยการกู้ยืม เช่น ต้องขยายการผลิต เพราะทางลูกค้าบริษัทญี่ปุ่น หรือ บริษัทขนาดใหญ่ order เพิ่ม ถ้าไม่ทำก็สูญเสียโอกาส  หรือไม่ก็เลิกสั่งซื้อ เปลี่ยน vendor ไปเลย เพราะถือว่าคุณไม่สามารถรองรับการขยายงานของเขาได้  ระบบการบริหารสต็อควัตถุดิบต่างๆ ก็ต้องเป็นระบบของผู้ผลิตยานยนต์  เช่น ระบบกัมบัง ของญี่ปุ่น  ทางบริษัทใหญ่ไม่สต็อคเลย จะผลักภาระให้เป็นการสต็อควัตถุดิบ เช่น เหล็ก ที่ vendor  แล้วเขาจะเรียกวัตถุดิบมาตอนที่จะใช้ เป็นแบบ just in time เป็นต้น  นี่แหละคือส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการ SME รับภาระมาก   นอกจากนั้น การลงทุนของโรงงานชิ้นส่วนยานยนต์ นั้น อาจต้องสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่  เป็นเครื่อง CNC  เพื่อทำ tolling ทำแม่พิมพ์  หรือ เครื่อง stamping part  เพิ่มเติม เพื่อสร้างศักยภาพให้รองรับระบบ supply chain ที่ทางผู้ผลิต หรือ ทางญี่ปุ่น กำหนดมา

 

            ดังนั้น ยิ่งยอดขายเติบโตเท่าใด หนี้สินก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้นเป็นเงาตามตัว ในขณะที่กำไร ไม่ได้เพิ่มขึ้น  เพราะมีการควบคุมต้นทุนอย่าใกล้ชิดจากผู้ว่าจ้าง  ปั๊มงาน 1 ชิ้น มี margin ไม่กี่สตางค์ 

 

ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้จึงผลิตพออยู่รอดไปในแต่ละเดือน แต่สถานะงบการเงินเต็มไปด้วยฝั่งหนี้สินจากเดินตัวเอียง  โอกาสที่จะก้าวไปสู่ความมีเสถียรภาพด้านการผลิต หรือ การเงิน ไม่มี  จะมีงบประมาณไปวิจัย พัฒนา ก็ไม่มีทาง  แต่ละรายใกล้จะล้มละลายทางการเงิน หรือ ขาดสภาพคล่องทางการเงินเหมือนกันไปหมด         

 

                ทางรอด หรือ ทางเลือกของอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย

 

             ทางเลือกที่ 1

 

               ด้านเอกชน : รวมกลุ่มผู้ผลิต  ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ใครผลิตไม่ทัน  แบ่ง order ไปให้โรงงานที่มีงานน้อย ถ้ากิจการไหนทุนไม่พอ หรือ มีปัญหาขาดสภาพคล่อง  อาจเจรจาควบรวมกิจการกัน  เนื่องจากอุปสงค์ตลาดมีจำกัด ในภาวะเศรษฐกิจขาลง  ถ้าแข่งกัน แย่งกันผลิต ก็ตายหมด

 

                เมื่อรวมกลุ่มกัน มีกำลังผลิต  คนงานก็มาก  ศักยภาพการต่อรองมากขึ้น  สามารถไปแสวงหาแหล่งทุนจากต่างประเทศได้ หรือ หาตลาดได้กว้างขึ้น  เอาจุดอ่อน จุดแข็งมาถัวเฉลี่ยกัน 

 

                แต่ปัญหา คือ คนไทย นิสัยหน้าบาง จมไม่ลง  ปกปิด  ไม่ยอมเปิดเผยปัญหาตัวเอง จะล้มอยู่แล้ว  อายไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมธุรกิจ หรือ คู่ค้า ปกปิดข้อมูลทางการเงิน  ขายได้ก็เอาเข้าบัญชีส่วนตัว ไม่ผ่านบัญชีบริษัท  นอกจากนั้นยังหลีกเลี่ยงภาษี, ไม่จ่ายเงินสมทบประกันสังคม  แบ็งก์จะเข้ามายึดโรงงาน วันนี้  พรุ่งนี้ อยู่แล้ว  ก็ยังไม่ปรับตัว

 

                ทางเลือกที่ 2

 

                ภาครัฐต้องเข้ามาเป็นโต้โผจัดการ  นึกถึงบรรยากาศสมัยก่อน โครงการ คปน. ของ ธปท. ที่เข้ามาเป็นตัวกลางในการปรับโครงสร้างหนี้ ในยุควิกฤตเศรษฐกิจปี 40  หากมีความร่วมมือกันทุกภาคส่วน  ก็หาทางผลักดันกันไปได้ 

 

                ภาครัฐอาจจัดตั้งคณะกรรมการ หรือ มอบหมายให้หน่วยงาน มาเป็นเจ้าภาพปรับโครงสร้างทั้งด้าน โครงสร้างกิจการ และ โครงสร้างหนี้สิน  จะควบรวมกิจการ จะหาแหล่งทุนจากต่างประเทศ จะทำอะไรก็ว่ากันไป  เพราะถ้าไม่ทำอย่างนี้  ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง การวิจัย พัฒนา ก็ไม่เกิด  โลกเข้าไปถึงไหนแล้ว เขาไปยุครถไฟฟ้ากันแล้ว  แต่อุตสาหกรรมของเรา ยังปั๊มงานกันเป็นเศษสตางค์ แทบไม่มีมูลค่าเพิ่มเลย  แล้วถ้าเขาเปลี่ยนเทคโนโลยี  เปลี่ยน platform  เปลี่ยนวัสดุที่ใช้ผลิต  โรงงานของเราจะทำอย่างไร

ถึงเวลานี้ SME ต้องมาวิเคราะห์แล้วว่าอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์  น่าจะไปในทิศทางใด  ที่เห็นกันอยู่ ก็คือ แนวโน้มหันไปใช้ EV มากขึ้นในอนาคต   แม้ขณะนี้เทคโนโลยี EV  รวมถึงการชาร์จ แบตเตอรี่    ยังไม่นิ่ง  แต่ผู้ประกอบการก็ควรเร่งเตรียมตัว หาลู่ทางว่าเราควรจะปรับตัวอย่างไร หากยุคของ EV มาถึง เพราะเทคโนโลยีการผลิตที่เราทำกันอยู่ทุกวันนี้ อาจตกยุคไปเลยก็ได้

 

            สรุปคือ ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรม ประกอบกับ ต้องมีการวิจัยและพัฒนา

 


 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Mismatching fund ปัญหาที่ SMEs ควรหลีกเลี่ยง

SME : EDUCATION ข้อสอบเข้า ป.1 สาธิตราม

ACCOUNT RECEIVABLE