13 ตุลาคม ของทุกปี รำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 และ ความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชั้นยอดของท่าน
รำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 และ เศรษฐศาสตร์
ผู้เขียนเรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์ จึงมีโอกาสได้ค้นคว้า, ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ และมีความประทับใจในอัจฉริยภาพด้านเศรษฐศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมทั้งพระราชดำริที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทยให้มีความอยู่ดี
กินดี
ครั้งหนึ่ง
ผมได้เคยเขียนบทความเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ไว้บทความหนึ่ง
ในวาระนี้ จึงขอนำมาฝากให้อ่านกันอีกครั้ง เพื่อเป็นการระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9.
เศรษฐศาสตร์ (ECONOMICS) คือ อะไร
เศรษฐศาสตร์ คือ
วิชาศึกษาเรื่องเกี่ยวกับ.......
การจัดสรรทรัพยากร ที่มีอยู่จำกัด ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อตอบสนองต่อ ความต้องการ ที่มีอย่างไม่จำกัด นั่นเอง ถึงบางอ้อ
แล้วหรือยังครับ
ถ้ายังงงอยู่ …. ยกตัวอย่างที่ใกล้ตัว น้ำมัน (เติมรถ) เราเปิดจากก็อกให้มันไหลท่วมที่บ้าน เล่น สักวัน
สองวัน ได้ไหม
คำตอบคือ ไม่ได้
มันไม่ได้หาง่ายขนาดนั้น เพราะมันเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด หรือ หายาก กว่าจะไปหามาได้ต้องไปหาแหล่งขุดเจาะ ต้องผ่านโรงกลั่น
มากมายขั้นตอน ต้องลงทุนสูง (ความหายากนี่แหละ ทำให้มันมีราคาสูง
ตามไปด้วย ตามหลักเศรษฐศาสตร์ จะอธิบายต่อภายหลัง)
หรือคำจำกัดความในอีกแบบหนึ่ง
คือ
ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ
เช่น การบริโภค การผลิต การจำหน่าย กลไกราคา นโยบายการเงิน
นโยบายการคลัง การพัฒนาเศรษฐกิจที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ในทางเศรษฐศาสตร์
ปัจจัยการผลิต มี 4 อย่าง คือ
: ทุน (Capital)
: ที่ดิน (Land)
: แรงงาน (Labor)
: ผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)
มองว่าทรัพยากรเหล่านี้มีจำกัด
ทำอย่างไรเราจะหาวิธี จัดสรร หรือ ใช้ ทรัพยากรเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เพื่อตอบโจทย์เหล่านี้ให้ได้ว่า
What
How
For whom
เราจะผลิตสินค้าอะไร ผลิตอย่างไร(ใช้เทคโนโลยี ,วิธีการผลิตอย่างไร) และ เพื่อให้ใครใช้
นักศึกษาเศรษฐศาสตร์, ผู้ที่มีโอกาสได้เรียน
หรือ มีแผนที่จะเรียน มักวิตกกังวลว่า เรียนเศรษฐศาสตร์แล้ว
จะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ดูเป็นวิชาการมากไป เป็นเรื่องไกลตัว
เศรษฐศาสตร์ไม่ใช่วิชาชีพเหมือนเรียนบัญชี
จบแล้ว ไปรับทำบัญชีได้เลย เรียนสถาปัตย์ จบไปรับออกแบบบ้านได้เลย เรียนหมอคน จบไปรักษาคน เพื่อนบางคนเรียนหมอสัตว์ ก็ไปเปิดคลีนิครักษาสัตว์ แต่หากเรียนหมอความ จบไปรักษาความ
อ้าวไม่ใช่แล้ว ไปว่าความครับ
ผู้เขียนจะบอกว่าเศรษฐศาสตร์นำไปใช้ได้เลย ทุกวันนี้เราก็ใช้ประโยชน์ในศาสตร์นี้อยู่ แต่เรามักมองข้ามไป
เช่น
เงินเดือนเราออกเมื่อสิ้นเดือน 2 หมื่น แต่ปลายเดือนนี้ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกัน 1 หมื่น แล้วเราจะอยู่ได้อย่างไร ค่ากิน ค่าที่พัก จะจัดสรรเงินอย่างไร จากเงินงบประมาณที่มีจำกัด เช่น เราอาจเก็บออมเงินฝากธนาคารไว้เดือนละ 2 พัน ใช้เวลา 5 เดือน ก็มีเงินพอจ่ายค่าเบี้ยประกันแล้ว นี่แหละการใช้วิชาเศรษฐศาสตร์ในการจัดสรรทรัพยากร
(เงินเดือน) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิตของเรา
ตัวอย่างที่ดีที่สุด คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้เขียนขอเรียนว่า
ท่าน คือ นักเศรษฐศาสตร์ชั้นยอดที่สุด ท่านเห็นว่าทรัพยากรที่สำคัญของไทยเรา
คือ ดิน และ น้ำ เนื่องจากเราเป็นสังคมเกษตรกรรม
ที่การผลิตขึ้นกับดินฟ้าอากาศ โดยเฉพาะฝน จะเห็นว่าโครงการพระราชดำริของท่าน
โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ จะเน้นที่การวิจัยและพัฒนาดิน รวมถึงวางแผนการชลประทาน
และการทำฝนเทียม ทำอย่างไรที่จะเข้าถึงและสนับสนุนให้เกษตรกรได้มีอาชีพ
มีผลผลิตทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ พัฒนาคุณภาพชีวิต
ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงท่านได้พัฒนารากฐานของการศึกษา
และ สาธารณสุข ท่านเป็นยอดนักพัฒนาในการวางแผนว่าจะจัดสรรทรัพยากรอย่างไร
ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะเกษตรกรในชนบทห่างไกล เช่น
ชาวเขาทางภาคเหนือให้ลด เลิก การปลูกฝิ่น หันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น กาแฟ, แมคคาดีเมีย, ผักสด,ผลไม้ พวก
ท้อ สาลี่ แอปเปิล,สตรอว์เบอรี่ เป็นต้น
สำหรับนักศึกษาที่เรียนเศรษฐศาสตร์ใหม่ๆ
มักจะงง ไม่เข้าใจในทฤษฎี หลักการ หรือ
เหตุผลของวิชานี้ ส่วนหนึ่งเพราะหลักสูตรในบ้านเรา ไปลอกมาจากฝรั่งตะวันตก ซึ่งเป็นเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในทางทุนนิยม บางครั้งเต็มไปด้วยเส้นกราฟระโยง
ระยาง สมการคณิตศาสตร์ สถิติ วุ่นวาย ดูเวียนหัวไปหมด
ขอแนะนำให้นักศึกษาหรือผู้สนใจศึกษา
หันมามองจากเรื่องใกล้ตัว กิจวัตรประจำวันที่เราสัมผัสอยู่
สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศของเรา ก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น พวกกราฟ สมการต่างๆ เป็นเพียงเครื่องมือ หรือ
ประตูที่จะผ่านเราไปสู่ความเข้าใจที่จะนำความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการเรียน
หรือ ในการทำงาน แม้กระทั่งการทำธุรกิจ ของเราได้
เราสามารถแบ่งเศรษฐศาสตร์ได้เป็น 2 สาขาวิชาหลักๆ คือ
เศรษฐศาสตร์จุลภาค และ
เศรษฐศาสตร์มหภาค
เศรษฐศาสตร์จุลภาค ศึกษาเกี่ยวกับ หลักและทฤษฎี การบริโภค ทฤษฎี การผลิต ต้นทุนการผลิต การตัดสินใจผลิตเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมที่สุด ที่เกี่ยวข้องพฤติกรรมของหน่วยธุรกิจ (ในตำราเศรษฐศาสตร์ จะเรียกว่า firm)โดยจะตั้งอยู่บนสมมติฐานการผลิตที่มีเป้าหมายต้องการทำกำไรสูงสุด โดยหลักและทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์จะต้องมีสมมุติฐานที่สำคัญอย่างหนึ่ง
คือ กำหนดให้ปัจจัยอื่นๆคงที่ เนื่องจากว่าเป็นการศึกษาทางสังคมศาสตร์
ในขณะที่พฤติกรรมของบุคคล หรือ องค์กรทางเศรษฐกิจ หรือ สิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจอื่นๆ
ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตอยู่ตลอดเวลา
กลไกราคา หรือ
ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดทุนนิยม เป็นสิ่งที่สำคัญและมีบทบาทมากในการศึกษาเศรษฐศาสตร์
พลังของอุปสงค์ และ อุปทาน จะเป็นตัวกำหนดให้เกิดการตกลงราคาของสินค้าและบริการ กลไกราคาจะเป็นผู้จัดสรร ทรัพยากรจเอง
โดยรัฐหรือผู้อื่นไม่ต้องเข้าไปแทรกแซง เป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ใครเสนอราคาได้สูงกว่าคนนั้นเอาไป ใครทำมากได้มาก ซึ่งสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชน ที่อยากได้ อยากมี
อยากบริโภค เพื่อตอบสนองความอยาก ต้องแข่งขันกันผลิตมากๆ ทำกำไรมากๆ บริโภคมากๆ
พอมีทรัพยากรทางเศรษฐกิจมากขึ้น
มันก็มีพอเพียงที่จะกระจายจัดสรรให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น
มีสินค้าและบริการบริโภคมากขึ้น ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
ทำให้แม้กระทั่งประเทศสังคมนิยมอย่างจีน ต้องหันมาใช้ระบบเศรษฐกิจการตลาดแบบทุนนิยมเสรี เพราะสังคมนิยมด้านเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ ความอยากของมนุษย์
พูดง่ายๆ คือ หาได้น้อย ไม่พอกิน ไม่พอแบ่ง คนไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน
ทำมาหาได้ต้องมาแบ่งปันเข้ากองกลางเรียกว่าคอมมูน ธรรมชาติของคนมีกิเลส
ต้องการบริโภค ต้องการความมั่งคั่ง ความสะดวกสะบาย
ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้เป็นผลตอบแทนที่จูงใจ
คนก็ขี้เกียจ ทำแบบเช้าชาม เย็นชาม ผลผลิตก็ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่พอเลี้ยงประเทศ
เศรษฐศาสตร์มหภาค กลไกการทำงานภาพรวมของระบบเศรษฐกิจในระดับประเทศ หรือ ระดับโลก
ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัย/ตัวแปรทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่ หรือ ภาพรวมระดับประเทส
การบริโภคมวลรวม การผลิตของประเทศ
อุปสงค์มวลรวม อุปทานมวลรวม
นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตประชาชน
เช่น นโยบายการเงิน นโยบายการคลัง
รายได้ประชาชาติ (National Income), ผลผลิตมวลรวมในประเทศ
(Gross Domestic Product:
GDP),
การค้าระหว่างประเทศ มูลค่าการส่งออก และ นำเข้า
ตลาดปัจจัยการผลิต ตลาดแรงงาน ตลาดการเงิน (ประกอบด้วย ตลาดเงินและตลาดทุน) ภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ เงินฝืด
แบบฝึกฝนเพื่อลับสมองสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้ด้วยตนเอง
: รัฐบาลมุ่งหวังว่าจะผลักดันการเบิกจ่ายงบประมาณด้านการก่อสร้าง
สาธารณูปโภคให้มากขึ้นในปีนี้ เพื่อให้กระจายรายได้ และ เพิ่มการจ้างงาน และทำให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต
คำถาม : อย่างนี้เรียกว่ารัฐบาลใช้นโยบายอะไร ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
และท่านเห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย เพราะอะไร
คติประจำวัน : ไม่สำคัญว่าท่านเกิดเมื่อใด
อายุเท่าใด จงศึกษาประวัติศาสตร์
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น