ความคืบหน้า กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ 1 ปี ที่ผ่านไป


ความคืบหน้า กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ 1 ปี ที่ผ่านไป


 

                ข่าวดีเพิ่มเติม สำหรับผู้รับหลักประกันกลุ่มใหม่   ตามกฎกระทรวงการคลัง พ.ศ. 2559   เรื่อง กำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับหลักประกัน  ได้มีการประกาศเพิ่มอีก  6  กลุ่ม ดังนี้

1) นิติบุคคล – แปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

2) ทรัสตีในนามทรัสต์ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน

3) บริษัทหลักทรัพย์  กองทุนรวม หรือ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

4) นิติบุคคล – ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตามกฎหมายว่าด้วย สัญญาซื้อขายล่วงหน้า

5)บริษัทบริหารสินทรัพย์ตาม              กฎหมายว่าด้วย   บริษัทบริหารสินทรัพย์

6) นิติบุคคลธุรกิจแฟ็กเตอริง

                นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทางราชการได้เปิดโอกาสให้สถาบันอื่นๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับ พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ  ไม่ได้ผูกขาดอยู่แต่ในสถาบันใหญ่ ๆ เช่น ธนาคาร

                สำหรับสถานการณ์หลังจากบังคับใช้กฎหมายหลักประกันครบ 1 ปี (ก.ค. 59 – ก.ค. 60)  ภาพรวมเป็นไปด้วยความคึกคัก โดยเฉพาะสถาบันหลักในตลาด คือ แบงก์ ได้พาเหรดเข้าจดทะเบียนหลักประกันเป็นจำนวนมาก รวม 1.4 แสน คำขอ มูลค่าทรัยพ์สินรวม 2.67  ล้านล้านบาท

1) ส่วนใหญ่เป็นสิทธิเรียกร้อง  2.14  ล้านล้านบาท   คิดเป็น 80.28%  แบ่งเป็นทรัพย์สิน  ดังนี้

บัญชีเงินฝากธนาคาร 1.60  ส้านบาท        คิดเป็น 60%

สิทธิการเช่า 8.45  หมื่นล้านบาท  คิดเป็น 3.17%

อื่นๆ เช่น ลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาซื้อขาย  4.57 แสนล้านบาท คิดเป็น 17.11%

2) กลุ่มสังหาริมทรัพย์    รวม  5.24  แสนล้านบาท  คิดเป็น  19.65%

 

จะเห็นว่าสินทรัพย์ส่วนใหญ่ที่นิยมจดทะเบียนหลักประกัน จะเป็นเงินฝากธนาคาร ถึง  60%  แต่กลุ่มสินทรัพย์ที่น่าสนใจคือ ลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาซื้อขาย   ก็มีการจดทะเบียนในสัดส่วนที่มากพอสมควร คือ 17%  ผู้เขียนมองว่าสินทรัพย์กลุ่มนี้น่าจะช่วย SME ได้ ในการเพิ่มโอกาสได้รับสินเชื่อ  เพราะปัญหาของ SME คือ ไม่มีหลักประกัน เป็นที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง หรือ จะมีเครื่องจักรก็เป็นเครื่องเล็กๆ  ดังนั้น ทางหนึ่ง คือ  นำกลุ่มสินทรัพย์พวก ลูกหนี้การค้า เข้าระบบเป็นหลักประกันที่มีการจดทะเบียนรับรอง  ตาม พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ  โดยสามารถนำมาใช้สินเชื่อแฟ็กเตอริงได้  ทาง Bank ก็สามารถรับเป็นหลักประกันได้ จากเดิมที่ไม่ได้ถูกยอมรับว่าเป็นหลักประกัน  ที่ธนาคารปล่อยสินเชื่ออยู่ให้กลุ่มสัญญา หรือ ลูกหนี้การค้า ก็จะเป็นการมอบสิทธิการรับเงินตามสัญญา หรือ โครงการต่างๆ  เป็นการลดความเสี่ยงด้วยการล็อคแหล่งชำระหนี้   กลุ่มนี้น่าจะพัฒนาให้มีผลในทางปฏิบัติมากขึ้น ก็จะช่วย  SME ได้มากขึ้น

3)แต่อีกกลุ่มสินทรัพย์ที่น่าสนใจ คือ ทรัพย์สินทางปัญญา  แม้จะมีการจดทะเบียนแล้ว เช่น เครื่องหมายการค้า มีผู้ประกอบการบางรายได้ยื่นโดยได้รับการประเมินมูลค่าเครื่องหมายการค้า ถึง พันกว่าล้านบาท  แต่ในเมื่องไทยน่าจะยากในทางปฏิบัติ เพราะเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้ยาก ประเมินมูลค่าก็ยาก รวมทั้งหาตลาดรองรับลำบาก เช่น ถ้า bank ได้บังคับหลักประกันเครื่องหมายการค้ามา จะเอาไปขายให้ใคร               

ประเด็นที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ การบังคับหลักประกัน  โดยการออกกฎหมายมุ่งหวังว่าหากเกิดกรณีผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้และลูกหนี้จะตกลงกันได้เอง ลูกหนี้ยินยอมให้บังคับหลักประกันโดยไม่ต้องไปฟ้องร้องผ่านกระบวนการทางศาล ก็เป็นการลดขั้นตอน ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ทำให้รวดเร็วขึ้น

                ได้มีการอบรมผู้บังคับหลักประกันขึ้นทะเบียนไว้แล้วนับร้อยคน  ตรงนี้ผู้เขียนยังไม่ได้ข้อมูลว่ามีกรณีบังคับหลักประกันแล้วหรือยัง จึงยังบอกไม่ได้ว่าจะได้ผลแค่ไหน  เพราะหากลูกหนี้ไม่ให้ความร่วมมือในการบังคับหลักประกัน ก็ต้องไปพึ่งกระบวนการฟ้องร้องทางศาลเหมือนเดิม 

ดังนั้น ถ้าจะถามว่า 1 ปี ผ่านไป  การใช้กฎหมายนี้ได้รับความสำเร็จเพียงใด ที่จะช่วย SME ในการเข้าถึงแหล่งทุน  อาจจะยังตอบไม่ได้ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม หากมองในแงดี  ก็ยังดีที่มีทิศทางที่ชัดเจนขึ้นว่าจะช่วย SME อย่างไร  คงต้องติดตามดูกันต่อไปครับ หากได้ความคืบหน้าของ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไปครับ. ขอบคุณครับ.

 

 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Mismatching fund ปัญหาที่ SMEs ควรหลีกเลี่ยง

SME : EDUCATION ข้อสอบเข้า ป.1 สาธิตราม

ACCOUNT RECEIVABLE